ตงจื้อ หรือ เทศกาลฤดูหนาว ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลากลางฤดูหนาว ประมาณเดือน 11 และใกล้เคียงกับเทศกาลล่าปา ในสมัยชุนชิว ประเทศจีนก็มีการใช้เครื่องมือพื้นบ้านทำการวัดเวลาของ 24 เทศกาลใน 1 ปี และพิสูจน์ได้ว่า วันตงจื้อเป็นเทศกาลแรกเทศกาลหนึ่ง ซึ่ง มีเวลากลางวันสั้นที่สุด และเวลาคืนยาวที่สุดในรอบปี เมื่อผ่านพ้นตงจื้อไปแล้วกลางวันจะยาวขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นในสมัยโบราณจึงมีการสันนิษฐานว่า วันตงจื้อนั้นเป็นวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจึงมีการฉลองอย่างครึกครื้นเป็นการใหญ่ ช่วงหลังชาวบ้านรับรู้ถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเช่นลูกเห็บตกในฤดูใบไม้ผลิ ฟ้าคะนองในฤดูหนาว การเกิดสุริยคราสหรือจันทรคราสอุทกภัยหรือภัยแล้ง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะฟ้าดินวิปริตแปรปรวน ซึ่งเป็นการลงโทษต่อมนุษย์โลกทั้งนั้น
ในสมัยราชวงศ์หมิง และ ราชวงศ์ชิงนั้น กษัตริย์ได้ฉลองพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ เพื่อบวงสรวงพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์ประทานพืชพันธุ์ธัญญาหารอันอุดมสมบูรณ์ในปีนั้น และขอพรความสุขความเจริญเพื่อดับทุกข์แทนประชาชน เพราะกษัตริย์ก็คือบุตรสวรรค์ ต่อมาประชาชนก็บวงสรวงเซ่นไหว้เทพเจ้าฟ้าดิน และบรรพบุรุษตามกษัตริย์
ส่วนเกี่ยวกับอาหารการกินในเทศกาลนี้ก็คือ “ขนมอี๋” ซึ่งเรียกว่า “สารทขนมอี๋” หรือ เทศกาลฤดูหนาว แต่ละถิ่นก็มีการกินที่แตกต่างกัน เช่น ทางอีสานชอบกินเต้าหู้ร้อน เนื้อสุนัข เกี๊ยว ทั้ง 3 อย่างนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายและให้ความอบอุ่นด้วย ส่วนเกี๊ยวนั้นเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หุนทุน” เล่ากันว่า ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ทางด้านทิศเหนือมีชนกลุ่มน้อยที่มีความเหี้ยมโหดเรียกว่า “ซงหนู” เข้ามารังควานทางด้านชายแดนบ่อย ๆ ทำให้ประชาชนอยู่ด้วยความไม่เป็นสุข ในตอนนั้นพวกซงหนูมีอยู่ 2 พวก หัวหน้าคนหนี่งชื่อ “หุน” อีกคนหนึ่งชื่อ “ทุน” ชาวบ้านเกลียดชังเข้ากระดูกดำ จึงได้ห่อเกี๊ยวเป็นเหลี่ยมและเรียกว่า “หุนทุน” กินเป็นอาหาร ไม่ให้มาทำความวุ่นวายหรือรังควานอีก จากนั้นมาความเป็นอยู่เป็นไปอย่างสงบสุข ส่วนแถบทางใต้และพวกที่อยู่ต่างแดนพอถึงเทศกาลฤดูหนาว ก็จะทำขนมอี๋เซ่นไหว้ฟ้าดินเทพเจ้า และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อแสดงถึงความกลมเกลียวโชคดีมีสุขตามขนมที่เซ่นไหว้
สำหรับขนมอี๋ หรือขนมบัวลอยที่ใช้ในการเซ่นไหว้จะทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำต้มสุกจนเข้าที่และปั้นเป็นเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ นิยมผสมสีชมพูและสีขาว เมื่อปั้นเสร็จแล้วจึงนำไปต้มในน้ำเดือดคล้ายกับการทำบัวลอยน้ำกะทิของคนไทย แต่ขนมอี๋จะใช้น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดงแทนกะทิ ที่สำคัญจะต้องมีขนมอี๋ลูกใหญ่ที่เรียกว่า อีโบ้ ใส่ลงไปในถ้วยขนมอี๋ที่จะไหว้ถ้วยละหนึ่งลูกด้วย
ลักษณะกลมของขนมอี๋ สื่อความหมายถึงความกลมเกลียวของคนในครอบครัว สีแดงและสีชมพู สื่อความหมายถึงความโชคดี นอกจากนี้ขนมอี๋ยังถือเป็นขนมมงคลของชาวไทยเชื้อสายจีนที่นิยมทำขื้นในงานแต่งงานอีกด้วย